แคตตาล็อกออนไลน์

ความรู้เกี่ยวกับหลังคาเหล็ก Metal Sheet

หลังคาเหล็ก หรือหลังคาเมทัลชีท (Metal Sheet) คืออะไร

- ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจคำว่า Metal Sheet หรือ เมทัลชีท (ถ้าจะออกเสียงให้ถูกต้องตามฝรั่ง ต้องออกเสียงว่า เม็ทเทิ่ลชีท) หมายถึง แผ่นโลหะที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งอาจจะเป็นโลหะอะไรก็ได้ เช่น เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม ฯลฯ แต่ที่ของเมืองไทยส่วนใหญ่จะหมายถึงแผ่นเหล็กที่เอามารีดเป็นแผ่นลอน ๆ ตามรูปลอนที่ออกแบบกันไว้ต่าง ๆ กัน เพื่อที่จะเอามามุงเป็นหลังคา หรือกั้นเป็นผนัง รวมทั้งเอามาขึ้นรูปเป็นบานเกล็ดเป็นครอบมุมต่าง ๆ  

- แผ่น Metal Sheet ก่อนเอามารีดลอนหรือขึ้นรูปโดยทั่วไปเท่าที่เห็นกันมีอยู่ 2 ลักษณะคือ แผ่นเคลือบอลูซิงค์ (Aluzinc) และแผ่นเคลือบสี  

1. แผ่นเคลือบอลูซิงค์ เป็นการเอาเหล็กมาเคลือบสารที่มีส่วนผสมหลักเป็นสังกะสี (Zinc) และอลูมิเนี่ยม เพื่อป้องกันการผุกร่อนจากการเป็นสนิม และแลดูสวย เงางามกว่าการเคลือบสังกะสีอย่างเดียวอย่างแผ่นสังกะสีทั่วๆไป  

2. แผ่นเคลือบสี เป็นการเอาเหล็กมาเคลือบอลูซิงค์(Aluzinc) หรือเคลือบสังกะสี (Zinc) อย่างเดียว (ตามแต่ละมาตรฐาน) ก่อนที่จะเคลือบสีให้สวยงามทับไปอีกครั้งหนึ่ง  

ศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับ Metal Sheet 

- BMT (Base Metal Thickness) คือ ความหนาของเนื้อเหล็กก่อนเคลือบอลูซิงค์ 

- TCT (Total Coated Thickness) คือ ความหนารวมเคลือบอลูซิงค์และเคลือบสีแล้ว 

- AZ 50, AZ 70, AZ 90, AZ 100, AZ 150 คือ ระดับดับการเคลือบสารอลูซิงค์หน่วยเป็นกรัมต่อตารางเมตรทั้ง 2 หน้า ซึ่งการเคลือบสารที่มากกว่าจะทำให้แผ่น Metal Sheet ทนทานนานกว่า ซึ่งความทนทานนี้จะไม่ขึ้นกับความหนาของแผ่นเหล็กก่อนเคลือบ  

- G300, G550 คือ ค่า Yield Strength คือค่าบอกการดึงเพื่อให้เหล็กแข็งขึ้น หน่วยเป็น Mpa (ขออธิบายนิดหนึ่งว่า เหล็กเมื่อโดนดึงออกมันจะแข็งขึ้นจนถึงค่าหนึ่งเหล็กจะแข็งที่สุดถ้าตึงต่อจะขาด เราจะเห็นจากเหล็กบางชนิดเช่นที่เขาใช้เสริมคอนกรีตทำเสาเข็มหรือเสาไฟฟ้า เส้นเล็กแต่แข็งมาก เหล็กที่ทำให้แข็งโดยวิธีนี้จะเปราะลงกว่าเดิมและแตกหักง่ายกว่า) เหล็ก G550 จะดึงให้มีค่า Yield Strength = 550 Mpa จะแข็งกว่า เหล็ก G300 เหล็ก G550 เหมาะสำหรับลอนคลิ๊ปล็อคและลอนทั่วไปที่ต้องการให้แข็งแต่ต้องไม่รีดให้เป็นมุมมากเพราะเหล็กเปราะหักง่าย ส่วนเหล็ก G300 เหมาะสำหรับลอนที่ติดตั้งด้วยระบบหนีบ(ลอนหัวจุก เช่น ลอน V-750) แต่รีดเป็นลอนทั่วไปก็ใช้ได้และมีข้อดีที่แม้ว่าเหยียบลอนหักก็เหล็กไม่แตก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรงรีดแต่ละรายว่าจะใช้เหล็กแบบไหน

การใช้งาน

การเลือกใช้ Metal Sheet ที่ดี เลือกอย่างไร

1. เลือกลอนให้เหมาะกับความลาดชัน (Slope) ของหลังคา ซึ่งตัวนี้สำคัญมาก ผู้ผลิตแต่ละที่จะมีข้อกำหนด ความลาดชัน (Slope) ของแต่ละลอนว่าควรใช้กับ Slope เท่าไหร่ ถ้าเลือกผิดก็อาจจะรั่วได้เพราะระบายน้ำไม่ทัน 

2. เลือกความหนา และลักษณะลอนให้เข้ากับความห่างของแป โดยที่แปห่างควรใช้ความหนาที่มากขึ้น 

3. เลือกระดับคุณภาพจากระดับการเคลือบซิงค์ หรืออลูซิงค์ และผู้ผลิตเหล็กที่เชื่อถือได้ ซึ่งถ้าต้องการใช้งานที่ยาวนานก็ต้องเลือก AZ ที่สูง ซึ่งโดยทั่วไป AZ70 จะรับประกันได้ประมาณ 5-10 ปี ส่วน AZ150 จะรับประกันได้ประมาณ 15-20 ปี เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดในการเลือกแผ่น Metal Sheet คงต้องถามผู้ที่มีความรู้จริงในงานหลังคา 

การใช้สกรูสำหรับการยึดแผ่นหลังคาก็สำคัญ

- สกรูมีทั้งแบบที่ไม่ผ่านการทดสอบ Class ใด ๆ เลย สกรู Class 2 รับประกันได้ประมาณ 10 ปี และ สกรู Class 3 รับประกันได้ประมาณ 20 ปี จากประสบการณ์ถ้าใช้สกรูไม่ดี ประมาณ 4-5 ปี สกรูจะเป็นสนิมมีสีของสนิมเปื้อนเป็นทางให้เห็นต่อไปก็จะทำให้แผ่นผุกร่อนไปด้วย ถึงแม้ว่าจะใช้แผ่นหลังคา Metal Sheet ที่ดีมีคุณภาพแต่ต้องมาเสียเพราะใช้สกรูที่ไม่ดีพอ 

การติดตั้งที่ดีมีคุณภาพก็สำคัญมาก

- ถ้างานที่ไม่ซับซ้อน ช่างที่ไม่เชี่ยวชาญมากก็สามารถมุงหลังคา Metal Sheet ได้เพราะงาน Metal Sheet ออกแบบมาให้ทำงานง่ายแต่ในกรณีที่งานมีความซับซ้อนการใช้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์สูงก็มีความจำเป็น เพราะถ้ามีปัญหาภายหลัง การแก้ไขเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากทำ

อ้างอิง : คู่มือของ BSI กรุงเทพผลิตเหล็ก (ผู้ผลิต)


โปรดขอรายละเอียดหรือติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม