การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562-2563
การดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยแรงงานไม่ต้องเดินทางออกไปนอกประเทศ
1.นายจ้างดำเนินการเอง กรณีเป็นบุคคลธรรมดา ให้ยื่นด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ พ่อ แม่ พี่ น้อง ดำเนินการแทน กรณีเป็นนิติบุคคล กรรมการผู้มีอำนาจ หรือมอบอำนาจให้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการแทน ซึ่งนายจ้างจะต้องวางเงินประกัน 1,000 บาท ต่อการจ้างแรงงานต่างด้าว 1 คน ทั้งนี้ไม่เกิน 100,000 บาท
2.นายจ้างว่าจ้าง ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศดำเนินการแทนให้ลูกจ้างผู้รับอนุญาตฯ ที่มาติดต่อแสดงบัตรลูกจ้างและหลักฐานการนำส่งเงินประกันสังคมเดือนสุดท้ายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วย เพื่อป้องกันปัญหาลูกจ้างดำเนินการโดยที่ผู้รับอนุญาตฯ ไม่ทราบเรื่อง
ขั้นตอนการดำเนินขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว
นายจ้างยื่นแบบบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name List) ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ในท้องที่ที่คนต่างด้าวทำงานอยู่หรือในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของนายจ้าง/สถานประกอบการตั้งอยู่
แรงงานต่างด้าวนำเอกสารที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ไปตรวจสุขภาพ ณ สถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล
เมื่อผ่านการตรวจสุขภาพแล้ว ให้คนต่างด้าวนำเอกสารที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ใบรับรองแพทย์ ยื่นขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักร 2 ปี ณ ตรวจคนเข้าเมือง โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะอนุญาตครั้งละ 1 ปี
เมื่อแรงงานต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (VISA) แล้ว ให้คนต่างด้าวยื่นขออนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ที่ได้ยื่นแบบบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวไว้
หลังจากแรงงานต่างด้าวได้รับเอกสารการอนุญาตทำงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ แล้ว ให้ไปติดต่อขอปรับปรุงทะเบียนประวัติและรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักทะเบียนภาค/สำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือที่กรมการปกครองกำหนด