Submitted by Ananya on Tue, 09/28/2021 - 09:33

ในการทำธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ การเป็นผู้นำ เพื่อที่จะพาองค์กรหรือบริษัทของเราก้าวเดินไปข้างหน้า ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงหลักการเป็นผู้นำที่เรียกว่า Fiedler’s Contingency Model

    Fred Edward Fiedler นักจิตวิทยาชาวออสเตรียได้ทำการศึกษาบุคลิกและลักษณะเฉพาะของผู้นำ และในช่วงปี 1960 ได้นำเสนอหลักการเป็นผู้นำที่มีชื่อว่า Fiedler’s Contingency Model โดยมีแนวคิดหลักว่า ไม่มีสไตล์การเป็นผู้นำแบบไหนที่มีประสิทธิภาพที่สุด รูปแบบการเป็นผู้นำที่เหมาะสมจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โดยพิจารณาจากปัจจัยสามอย่าง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับคนในทีม โครงสร้างของงานที่ทำ และอำนาจของผู้นำ

    ปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับคนในทีม จะต้องพิจารณาว่าระหว่างคนในทีมกับผู้นำมีความสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่ดี สำหรับโครงสร้างของงานที่ทำจะต้องพิจารณาว่างานที่ทำนั้น เป็นงานที่มีโครงสร้าง มีระบบที่ซับซ้อน หรือเป็นงานฟรีสไตล์ที่เน้นความสร้างสรรค์ ทำวิธีไหนก็ได้ และสุดท้ายคืออำนาจของผู้นำ ว่าผู้นำอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจในการสั่งงานหรือไม่

    เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งสามอย่างแล้วจะทำให้สามารถพิจารณาได้ว่าสไตล์การเป็นผู้นำแบบไหนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดระหว่างการเป็นผู้นำที่เน้นงาน กับการเป็นผู้นำที่เน้นสร้างความสัมพันธ์ ตามตารางด้านล่างนี้

ความสัมพันธ์ระหว่าง
ผู้นำกับคนในทีม

โครงสร้างของงานที่ทำ

อำนาจของผู้นำ

สไตล์การเป็นผู้นำที่เหมาะสม

ดี มีระบบ สูง เน้นงาน
ดี มีระบบ ต่ำ เน้นงาน
ดี ไม่มีระบบ สูง เน้นงาน
ดี ไม่มีระบบ ต่ำ เน้นความสัมพันธ์
แย่ มีระบบ สูง เน้นความสัมพันธ์
แย่ มีระบบ ต่ำ เน้นความสัมพันธ์
แย่ ไม่มีระบบ สูง เน้นความสัมพันธ์
แย่ ไม่มีระบบ ต่ำ เน้นงาน

    จากแนวคิดของ Fred Fiedler จะพบว่าสถานการณ์ในการทำงานจะมีด้วยกัน 8 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีสไตล์การเป็นผู้นำที่แตกต่างกัน

    ยกตัวอย่างเช่น ลองจินตนาการว่าเราได้สมัครงานเข้าไปเป็นหัวหน้าแผนกของบริษัทหนึ่ง เมื่อเข้าไปทำงานวันแรกก็ได้พบว่า หัวหน้าแผนกคนก่อนเป็นคนที่ได้รับความเคารพรักจากลูกน้องในแผนกมาก ในขณะที่เราที่เพิ่งเข้ามา ก็ยังไม่ได้รับความไว้วางในจากลูกน้องในแผนกเท่ากับหัวหน้าคนก่อน (ดังนั้นแล้วความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับคนในทีมอยู่ในระดับที่แย่) และเราได้พบว่างานที่เรากำลังทำอยู่นั้น เป็นงานที่มีระบบระเบียบแบบแผนชัดเจน และมีความซับซ้อนสูง (ดังนั้นแล้ว งานที่ทำเป็นงานที่มีระบบ) แต่ด้วยตำแหน่งของเราที่เป็นหัวหน้าแผนก ทำให้เรามีอำนาจในการบริหารและสั่งการสูง (ดังนั้นแล้ว อำนาจของผู้นำเป็นแบบสูง) เมื่อพิจารณาทั้งหมดตามเกณฑ์ของ Fiedler’s Contingency Model แล้ว จะพบว่าสไตล์การเป็นผู้นำที่เหมาะสมกับงานนี้คือการเป็นผู้นำแบบที่เน้นความสัมพันธ์นั่นเอง

    หรือหากว่าเราเป็นหัวหน้าทีมที่ทำงานกับลูกน้องของเรามาเป็นเวลานานและสร้างความสนิทสนมกันแล้ว (ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับคนในทีมดี) งานที่ทำเป็นงานสบาย ๆ ไม่ได้มีระบบมาก (โครงสร้างของงานเป็นแบบไม่มีระบบ) และด้วยตำแหน่งของเรานั้น เราไม่ได้มีอำนาจในการสั่งงานที่สูง (อำนาจของผู้นำอยู่ในระดับต่ำ) เมื่อพิจารณาตามโมเดลนี้แล้ว จะพบว่ารูปแบบการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการเป็นผู้นำแบบเน้นงานนั่นเอง

    จากที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า Fred Fiedler บอกว่าสไตล์การเป็นผู้นำนั้นแบ่งเป็นสองรูปแบบคือ เน้นงานและเน้นความสัมพันธ์ หลาย ๆ คนอาจจะเกิดสงสัยว่าตัวเองนั้นเป็นผู้นำสไตล์ไหนกันแน่ Fred Fiedler ได้ใส่แบบทดสอบวัดสไตล์การเป็นผู้นำมาให้ในหนังสือ A Theory of Leadership Effectiveness โดยที่ Fred Fiedler เชื่อว่าแต่ละคนจะมีสไตล์การเป็นผู้นำที่กำหนดไว้แล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง

    การใช้ตารางนี้ ให้เรานึกถึงคนคนหนึ่งที่เราเคยทำงานด้วย (อาจจะเป็นในการเรียน หรือการฝึกซ้อมอะไรบางอย่างก็ได้) โดยที่คนคนนั้นเป็นคนที่ทำให้เรารู้สึกว่า เท่าที่เราเจอคนมาในชีวิต คนคนนี้คือคนที่เราไม่ชอบทำงานด้วยมากที่สุด และให้ใส่คะแนนในด้านต่าง ๆ ของคนคนนั้นตามตารางด้านบน

 ไม่เป็นมิตร (Unfriendly) 1 2 3 4 5 6 7 8  เป็นมิตร (Friendly)
 เป็นคนไม่สนุก (Unpleasant) 1 2 3 4 5 6 7 8  เป็นคนสนุก (Pleasant)
 เป็นคนปฏิเสธ (Rejecting) 1 2 3 4 5 6 7 8  เป็นคนยอมรับ (Accepting)
 เป็นคนเครียด (Tense) 1 2 3 4 5 6 7 8  เป็นคนสบาย ๆ (Relaxed)
 เป็นคนเย็นชา (Cold) 1 2 3 4 5 6 7 8  เป็นคนอบอุ่น (Warm)
 เป็นคนน่าเบื่อ (Boring) 1 2 3 4 5 6 7 8  เป็นคนน่าสนใจ (Interesting)
 เป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก (Backbiting) 1 2 3 4 5 6 7 8  เป็นคนซื่อสัตย์ (Loyal)
 เป็นคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ (Uncooperative) 1 2 3 4 5 6 7 8  เป็นคนให้ความร่วมมือ (Cooperative)
 คอยเป็นศัตรูกับผู้อื่น (Hostile) 1 2 3 4 5 6 7 8  คอยสนับสนุนผู้อื่น (Supportive)
 เป็นคนไม่เปิดกว้าง (Guarded) 1 2 3 4 5 6 7 8  เปิดคนเปิดกว้าง (Open)
 เป็นคนไม่จริงใจ (Insincere) 1 2 3 4 5 6 7 8  เป็นคนจริงใจ (Sincere)
 ใจร้าย (Unkind) 1 2 3 4 5 6 7 8  ใจดี (Kind)
 ไม่นึกถึงผู้อื่น (Inconsiderate) 1 2 3 4 5 6 7 8  เอาใจใส่ผู้อื่น (Considerate)
 เชื่อไม่ได้ (Untrustworthy) 1 2 3 4 5 6 7 8  เชื่อถือได้ (Trustworthy)
 ดูหมองมัว (Gloomy) 1 2 3 4 5 6 7 8  ร่าเริง (Cheerful)
 มีการโต้เถียง (Quarrelsome) 1 2 3 4 5 6 7 8  ลงรอยกับผู้อื่น (Harmonious)
  • ได้คะแนน 73 หรือมากกว่า แสดงว่าเราเป็นผู้นำแบบเน้นความสัมพันธ์
  • ได้คะแนนระหว่าง 55 กับ 72 แสดงว่าเราเป็นผู้นำที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองรูปแบบ
  • ได้คะแนน 54 หรือน้อยกว่า แสดงว่าเราเป็นผู้นำแบบเน้นงาน

    Fred Fiedler อธิบายไว้ว่าผู้นำที่เน้นงาน มีแนวโน้มที่จะมองบุคคลดังกล่าวในด้านลบ และให้คะแนนบุคคลนั้นน้อย เขาได้กล่าวไว้ว่าผู้นำลักษณะนี้เป็นผู้นำที่สามารถทำงานให้เสร็จได้อย่างมีรวดเร็วและประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับงานมากกว่าและความสัมพันธ์เป็นเรื่องรอง

    ในขณะที่ผู้นำที่เน้นความสัมพันธ์ มีแนวโน้มที่จะมองบุคคลดังกล่าวในแง่บวก และให้คะแนนบุคคลนั้นสูง ผู้นำลักษณะนี้จะมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงการทะเลาะและความขัดแย้ง

    ในขณะที่คนที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองรูปแบบจะไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน Fred Fiedler อธิบายว่าคนกลุ่มนี้จะต้องค้นหาเองว่าสไตล์การเป็นผู้นำแบบไหนที่จะเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด

ข้อดี-ข้อเสียของหลักการเป็นผู้นำแบบนี้

    ข้อดีของหลักการนี้คือ เป็นหลักการที่มีเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจน ทำให้สามารถรู้ได้อย่างชัดเจนว่าสไตล์การเป็นผู้นำแบบไหนที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ อีกทั้งยังเป็นหลักการที่แตกต่างจากทฤษฎีการเป็นผู้นำอื่น ๆ เพราะหลักการนี้เป็นหลักการที่นำสถานการณ์มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสไตล์ที่เหมาะสม ไม่ได้สนใจที่ตัวผู้นำอย่างเดียว

    ในขณะที่ข้อเสียของหลักการนี้คือ เป็นหลักการที่ไม่ยืดหยุ่น เพราะ Fred Fiedler ได้ระบุไว้ว่าแต่ละคนจะมีสไตล์การเป็นผู้นำของตนเอง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นหากผู้นำคนหนึ่งเข้าไปเจอสถานการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับสไตล์การเป็นผู้นำของตนเองแล้ว ทางแก้ที่ Fred Fiedler ได้เสนอมาคือเปลี่ยนผู้นำให้เข้ากับสถานการณ์นั้น ซึ่งในบางครั้ง วิธีแก้นี้ไม่สามารถทำได้ และข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือหากเราทำแบบทดสอบแล้วได้คะแนนอยู่ตรงกลางระหว่าง 55 กับ 74 จะทำให้เราไม่มีแนวทางชัดเจนในการเป็นผู้นำในทีมนั้น ๆ ที่ชัดเจน อีกทั้งการทำแบบทดสอบและการพิจารณาสถานการณ์นั้นยังขึ้นอยู่กับมุมมองและความเห็นของผู้ที่ทำแบบทดสอบเอง ซึ่งผู้ทำแบบทดสอบนั้นอาจจะประเมินสถานการณ์ผิดไปและใช้สไตล์การเป็นผู้นำผิดก็ได้

 

Source

Fiedler's Contingency Model - Leadership Skills From MindTools.com

Fiedler's Contingency Theory of Leadership - with Examples (expertprogrammanagement.com)