4 ข้อเข้าใจผิด กับการปลูกต้นไม้ในห้อง
เมื่อหลาย ๆ คนต้องเปลี่ยนจากการทำงานที่ออฟฟิศ มาเป็นทำงานแบบ Work from Home ทำให้การ “ปลูกต้นไม้” ในที่พักอาศัยได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มเรียนรู้ และลองผิดลองถูกในการดูแลต้นไม้ของตัวเอง ในบทความนี้เราจะมาพูดถึง 4 ข้อเข้าใจผิด กับการปลูกต้นไม้ในห้อง จะมีอะไรบ้างเรามาดูกันเลย
ต้นไม้ช่วยฟอกอากาศได้
หลายคนคงเคยได้ยินมาว่า มีงานวิจัยที่ยืนยันจาก NASA ว่าต้นไม้ในร่ม (Indoor Plant) สามารถฟอกอากาศได้ด้วยการดูดสารกลุ่มที่เรียกว่าสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compound) ซึ่งจัดว่าเป็นพิษในอากาศ โดยเราสามารถได้รับสารเหล่านี้ในชีวิตประจำวันจากสีทาบ้าน ควันบุหรี่ น้ำยาฟอกสี สีทาบ้าน และสารปนเปื้อนที่เกิดจากการเผาใหม้ในอากาศ
งานวิจัยที่ถูกพูดถึงกันนี้เป็นงานวิจัยจาก NASA ที่มีชื่อว่า Interior Landscape Plants for Indoor Air Pollution Abatement ซึ่งระบุไว้ว่าต้นไม้นั้นสามารถลดสารพิษต่าง ๆ ในอากาศได้จริง แต่ในงานวิจัยนี้ ทีมวิจัยทำทดลองในพื้นที่ปิดขนาดเล็ก (โรงเรือนที่ปลูกเป็นลูกบาศก์กว้างยาวสูงด้านละ 30 นิ้ว) ไม่มีอากาศถ่ายเท และใช้ตัวกรองอากาศที่เป็นถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) เสริมเข้าไปด้วย
อันที่จริงแล้วต้นไม้ที่อยู่ในห้องเราก็สามารถลดสารพิษตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ได้จริง ๆ แต่ว่าสามารถลดได้น้อยมาก เพราะห้องมีขนาดใหญ่กว่า มีอากาศถ่ายเทตลอด อีกทั้งยังไม่มีตัวกรองอากาศช่วยอีกต่างหาก จึงทำให้การมีต้นไม้ในห้อง แทบจะไม่แตกต่างจากการไม่มีเลย ซึ่งหากว่าเราต้องการให้ต้นไม้สามารถกรองอากาศได้จริง ๆ ห้องเราจะต้องมีต้นไม้เยอะเหมือนอยู่ในป่าดงดิบจริง ๆ เลยทีเดียว
สรุปคือ การปลูกต้นไม้ในห้อง แทบไม่ช่วยในเรื่องการฟอกสารพิษออกจากอากาศเลย หากต้องการฟอกอากาศให้ในห้องสะอาด การซื้อเครื่องกรองอากาศที่มีฟิลเตอร์ที่กรองสารพิษได้ อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ต้นไม้แย่งอากาศเรา
ตั้งแต่เด็ก เราจำมาตลอดว่าต้นไม้ปล่อยออกซิเจนตอนกลางวัน และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตอนกลางคืน ดังนั้นแล้วเราไม่ควรเอาต้นไม้ไว้ในบ้านตอนกลางคืน ไม่งั้นเราจะถูกแย่งอากาศหายใจตอนเรานอน
ความรู้เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด มีต้นไม้จำนวนมาก (ยกเว้นพวกพืชอวบน้ำและแคกตัส) ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตอนกลางคืนจริง แต่อันที่จริงแล้วคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ปล่อยออกมาตอนกลางคืนนั้น มีปริมาณน้อยมากจนไม่มีอันตรายอะไรกับเราเลย และน้อยมากเมื่อเทียบกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หรือแม้กระทั่งมนุษย์ด้วยกันเอง การมีน้องหมาน้องแมวหรือเพื่อนร่วมห้องนั้น ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าต้นไม้ทุกต้นในห้องรวมกันเสียอีก
สรุปคือ ต้นไม้ในห้องนั้น จะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในตอนกลางคืนจริง แต่ไม่ได้ทำอันตรายอะไรกับเราเลย
กระถางใหญ่ ต้นใหญ่
หลาย ๆ คนเมื่อซื้อต้นไม้มาในตอนแรก และเห็นว่าต้นไม้ต้นนั้นยังเป็นต้นเล็กอยู่ ด้วยความหวังดีจึงเปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้นมาก ๆ เพื่อที่จะให้ต้นไม้ต้นนั้นโตตามกระถาง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนกระถางใหญ่ขึ้นกว่าตนไม้มาก ๆ นอกจากจะไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว อาจส่งผลเสียต่อต้นไม้ด้วยก็ได้
โดยปกติแล้ว ต้นไม้ที่อยู่ในกระถางจะโตขึ้น และพยายามเพิ่มรากของตัวเองให้เต็มกระถางนั้น เพื่อที่จะได้สามารถดูดน้ำและอาหารที่อยู่ในดินให้มากขึ้น หากเราเปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้นตั้งแต่ตอนที่รากยังโตไม่เต็มกระถาง ก็จะไม่ได้ช่วยให้ต้นไม้โตไวขึ้นเลย เหมือนมีอาหารเยอะ แต่กินได้นิดเดียว ต้นไม้ก็จะโตเท่าที่กินได้นั่นแหละ ข้อดีของการเปลี่ยนเป็นกระถางใหญ่ล่วงหน้ามีแค่ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนกระถางหลายรอบเท่านั้นเอง
แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้นกว่าขนาดของต้นไม้มาก ๆ นั้น มีความเสี่ยงเรื่องรากเน่าอยู่ด้วย เพราะเมื่อกระถางใหญ่ขึ้น ปริมาณดินก็จะมากขึ้น ทำให้สามารถอุ้มน้ำไว้ได้นานขึ้น ถ้าต้นไม้ต้นเล็ก ก็จะดูดน้ำได้ไม่หมด รากก็จะแช่อยู่ในน้ำ ความเสี่ยงที่รากจะเน่าและเกิดเชื้อราก็จะมากขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นผลเสียต่อต้นไม้ของเราอย่างแน่นอน
ในการเปลี่ยนกระถางนั้น ควรจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อรากของต้นไม้เริ่มงอกทะลุก้นถาง ถ้าเห็นแบบนี้แสดงว่ารากของต้นไม้เริ่มอัดแน่นอยู่ข้างในกระถางแล้ว สามารถเปลี่ยนกระถางได้เลย การเลือกกระถางที่เล็กเกินไปจะจำกัดการเจริญเติบโตของพืช แต่กระถางใหญ่เกินอาจทำให้มีน้ำขังในกระถางมากเกินไป ขนาดกระถางสำหรับปลูกต้นไม้ในบ้านควรจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางของกระถางใหญ่กว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นไม้ประมาณ 1-2 นิ้ว เช่น หากต้นไม้ที่เราปลูกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว เราควรจะเลือกกระถางที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-7 นิ้ว เป็นต้น
แดดรำไร ไว้ตรงไหนก็ได้
ตอนที่เราไปซื้อต้นไม้ที่ร้าน บางทีคนขายอาจจะบอกว่า “ต้นนี้ชอบแดดรำไร ปลูกในบ้านได้” อาจทำให้เรางงว่าแดดประมาณไหนที่เรียกว่าแดดรำไร หรือแค่มีแสงก็พอแล้ว
ในธรรมชาติแล้ว ไม่มีต้นไม้ต้นไหนที่เกิดมาเพื่อปลูกในบ้าน คำว่าต้นไม้ในร่ม หรือ Indoor Plant ที่ว่าเป็นต้นไม้สำหรับปลูกในบ้าน อาจจะเป็นการเรียกที่ผิดไปเสียหน่อย ถ้าเรียกให้ถูก อาจจะต้องเรียกว่าเป็นต้นไม้ที่ต้องการแสงไม่มาก ถ้าหากต้นไม้เหล่านี้อยู่ในธรรมชาติ ก็จะเป็นต้นไม้ต้นเล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่ใต้ร่มของต้นไม้ต้นใหญ่ ไม่ชอบโดนแสงอาทิตย์ตรง ๆ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการแสงเลย เพราะพืชทุกชนิดบนโลกแม้กระทั่งตะไคร่น้ำที่ขึ้นตามพื้นที่ชื้นแฉะ ก็ยังต้องการแสงในการเจริญเติบโตเช่นกัน
ดังนั้นแล้ว จุดที่เราควรวางต้นไม้เหล่านี้ควรจะเป็นจุดที่มีแสงส่องถึง เช่นการวางไว้ข้าง ๆ หน้าต่าง อาจจะขยับออกมาซัก 1-2 เมตร แล้วแต่ชนิดของพืช แต่หากว่าข้างหน้าต่างไม่สามารถวางได้จริง ๆ อาจจะวางห่างออกไปมากกว่านั้นในที่ที่ยังพอมีแสงแดดเข้าไปถึง แล้วเปิดโคมไฟส่องไว้เพื่อให้แสงสว่างเพิ่มเข้าไป
Source
Interior Landscape Plants for Indoor Air Pollution Abatement - NASA Technical Reports Server (NTRS)
6 ความเชื่อผิด ๆ ของการ ปลูกต้นไม้ ในบ้าน ที่เธออาจยังไม่รู้ - PUEANRY
อ.เจษฎา ไขคำตอบ "ปลูกต้นไม้ในห้องนอน" ตอนกลางคืนอันตรายไหม (thairath.co.th)
10 Indoor Plant Misconceptions – Greener House (greenerhousenursery.com)
7 Common Plant Myths Demystified: What you Need to Know (modandmint.com)
4 Houseplant Myths We Should Stop Believing - YouTube
สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) (mahidol.ac.th)
A Guide for Choosing the Right Pot for Your Plant | Plant Care Tips – The Sill